ฺBanner

วันเข้าพรรษา จัดเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยท่านต้องประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติ (ข้อที่ตั้งขึ้นให้รู้ทั่วกันการกำหนดเรียก การวางเป็นกฎข้อบังคับ) ที่ทรงวางเป็นระเบียบข้อบังคับให้พระสงฆ์ต้องเขาจำพรรษาในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้ และพิธีกรรมวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจวันเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เรียกว่า ครบไตรมาส คือ ๓ เดือนนี่เป็นการเข้า "พรรษาต้น"ส่วนการเข้า"พรรษาหลัง"เริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒

พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา
พระท่านจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดีที่ใช้อยู่อาศัยได้ จัดการปัดกวาดหยากไย่ เช็ดถูให้สะอาด สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่วรดอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกระทำพิธีเข้าพรรษา โดยกล่าวอธิษฐานตั้งใจเพื่ออยู่จำพรรษา ตลอดฤดูฝนในวันของท่านที่ตั้งใจจะอยู่

คำกล่าวอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า "อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน" โดยกล่าวเป็นภาษาบาลีดังนี้ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นพระผู้น้อยก็กระทำสามีกิจกรรม คือ กล่าวขอขมาพระผู้ใหญ่ว่า "ขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินไปทางกาย วาจา ใจ เพราะประมาท"

ส่วนพระผู้ใหญ่ ก็กล่าวตอบว่า ลดโทษให้เป็นอันว่าต่างฝ่ายต่างให้อภัยกัน นับเป็นอันเสร็จพิธีเข้าพรรษาในเวลานั้น ครั้นวันต่อไปพระผู้น้อยก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบพระเถรานุต่างวัด ผู้ที่ตนเคารพนับถือ

ความเป็นมาของการเข้าพรรษา
ประวัติพิธีเข้าพรรษาของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าว่า ในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน น้ำมักท่วม ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว พวกเดียรถีย์และปริพาชกผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน ทั้งนี้เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกเผยแพร่พระศาสนาต่อไป นับเป็นพุทธจริยาวัตรและในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า ความครหานินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น

วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกขุ ๖ รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝน ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่าไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ตลอดจนทั้งสัตว์หลายตายจำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชก ก็ยังหยุดพักในฤดูฝนหรือจนแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรังเพื่อพักหลบฝน เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน ๗ วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา มีความเป็นมาดังกล่าวนี้

พิธีกรรมของพุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษานั้น
พุทธศาสนิกชนมีการกระทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ "เทียนเข้าพรรษา" บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด ๓ เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษาหรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม

เทศการเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ พุทธศาสนิกชนจึง ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง พิเศษขึ้น ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"คำว่า "วิรัติ" หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

อบายมุข นำไปสู่ความหายนะ 


บรรณานุกรม
๑. จ. เปรียญ. ประเพณีและพิธีมงคลไทย. ธรรมบรรณาคาร. ๒๕๑๘ กรุงเทพ ฯ.
๒. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดี. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้า.๒๕๓๖ กรุงเทพ ฯ.
๓. สุเมธ เมธาวิทยกุล. สังกัปพิธีกรรม. พริ้นติ้ง เฮ้า. ๒๕๓๒ . กรุงเทพ ฯ.
๔. แสงฉาย อนงคาราม. อานิสงค์จากพระไตรปิฎก. ส. ธรรมภักดี. กรุงเทพ ฯ.
๕. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย เทศกาลและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ม.มจร กรุงเทพ ฯ.

ข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

Print

0 Share
We use cookies

เราใช้คุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา บางส่วนมีความจำเป็นต่อการดำเนินงานของไซต์ ในขณะที่บางส่วนช่วยเราปรับปรุงไซต์นี้และประสบการณ์ของผู้ใช้ (คุกกี้ติดตาม)

คุณสามารถตัดสินใจได้เองว่า ต้องการอนุญาตคุกกี้หรือไม่ โปรดทราบว่าหากคุณปฏิเสธ คุณอาจไม่สามารถใช้ฟังก์ชันทั้งหมดของไซต์ได้